top of page

ถอดบทเรียนในฐานะผู้ดำเนินกิจกรรมและผู้เล่น

Sep 24

ใช้เวลาอ่าน 2 นาที

0

2

0

"สำหรับผู้เขียนที่ทำงานในห้องเรียน เกมนี้จึงเป็นแรงบันดาลใจให้นำไปประยุกต์ใช้ได้ในหลายมิติ โดยส่วนที่น่าสนใจที่สุดสำหรับผู้เขียน คือการ์ดตัวละครที่ช่วยเปิดพื้นที่ให้ตัวตนและซุ่มเสียงของผู้คนที่ไม่เคยถูกนับรวมในฐานะบุคคลสำคัญสำหรับรัฐหรือส่วนกลาง พร้อมกับ Easter Eggs ของเหตุการณ์สำคัญของประวัติศาสตร์การต่อสู้ทางการเมืองไทย"


ปาริชาต ชัยวงษ์ - WORKSHOP FACILITATOR & PLAYER


 

ครั้งแรกที่ได้ร่วมเป็นผู้เล่นในเกม Stardust’s Odyssey ผู้เขียนได้รับบทบาทเป็นนักสะสมดาว ซึ่งมีเป้าหมายส่วนบุคคล (Individual Victory) คือการสร้างละครเวทีเพื่อบันทึกประวัติของตนเอง แม้จะพอทราบอยู่บ้างว่าเกมมีเป้าหมายของส่วนรวมหรือชัยชนะร่วม (Collective Victory) ที่ผู้เล่นทุกคนสามารถเป็นผู้ชนะไปด้วยกันได้ แต่ในระหว่างเล่นเกมผู้เขียนกลับไม่สามารถดึงตัวเองออกจากการเป็นนักสะสมดาวที่ต้องการสะสมทรัพยากรด้วยข้อได้เปรียบทั้งหมดที่มีไปได้เลย ถึงแม้ผู้เขียนจะไม่ได้เป็นผู้ชนะในการเล่นเกมครั้งแรกนี้ แต่ความสนุกจากการได้ถือครองทรัพยากรและได้เป็นเสมือนผู้กุมชะตาของเพื่อนร่วมกลายเป็นประสบการณ์ใหม่ที่ฉายให้เห็นการทำงานของจิตใจผู้เล่นมากพอสมควร


การได้ถือครองทรัพยากรในปริมาณมากพอที่จะกำหนดทิศทางและความเป็นไปของสังคมได้ตามใจ ทำให้ผู้เขียนใช้อำนาจเหนือ (Power Over) กับผู้เข้าร่วมคนอื่นๆ มากอย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน แม้จะรู้ว่าไม่ใช่เรื่องที่ดีกับส่วนรวมเลยก็ตาม ในบางจังหวะที่รู้สึกว่าอำนาจที่มีกำลังถูกท้าทาย ผู้เขียนเลือกที่จะโต้ตอบกลับไปด้วยความฉุนเฉียว “รู้สึกเหมือนเป็นคุณตัน อิชิตัน ที่โดนกดดันให้วงโยฯ ยืมเงินเลย!” ผู้เขียนตะโกนเมื่อถูกกดดันให้จ่ายเพื่อทำภารกิจที่ช่วยลดผลกระทบจากค่าฝุ่น หลังจากได้ซื้อเครื่องกรองอากาศส่วนตัวมาแล้ว ความเห็นอกเห็นใจที่เคยมีเลือนรางไปอย่างไม่น่าเชื่อเมื่อมีอำนาจอยู่ในมือ หลังจากเกมจบจึงตั้งใจว่าจะขอกลับมาเล่นเป็นตัวละครนี้เพื่อแก้ตัวอีกสักครั้งให้ได้


และแล้วโอกาสนั้นก็มาถึง เมื่อผู้เขียนได้รับหมอบหมายให้ร่วมเล่นเป็นนักสะสมดาวอีกครั้งในการทดลองเกมรอบสุดท้าย ครั้งนี้ผู้เขียนได้รับหน้าที่ให้ “ปั่น”จนถึงที่สุด เพื่อจะทดสอบว่าเกมจะพาผู้เล่นไปสุดได้ที่ตรงไหน จึงหมายตั้ใจว่าจะเล่นเป็นชนชั้นนำหน้าเลือดที่ต้องการจะรักษาสถานะของตนเองไว้และในขณะเดียวกันก็พยายามขัดขวางการรวมกลุ่มของผู้เล่นคนอื่นๆ ด้วย ซึ่งในรอบสุดท้ายนี้ทั้งตัวเกมและผู้เล่นได้ทำหน้าที่พาเกมไปแตะที่ “จุดเดือด” ได้อย่างน่าประทับใจและน่าอัศจรรย์ใจในเวลาเดียวกัน ความรู้สึกอึดอัด ฉุนเฉียว ตลก สะใจ และโดดเดี่ยว ประเดประดังเข้าใส่นักสะสมดาวเป็นระยะๆ ดูเหมือนว่าเกมรอบสุดท้ายนี้ จะสร้างประสบการณ์ทางอารมณ์ที่ท้าทายความเชื่อของผู้เขียนได้มากทีเดียว


เมื่อถอยออกมาสังเกตการณ์ในฐานะผู้ดำเนินกิจกรรม ผู้เขียนพบว่าผู้เล่นที่แตกต่างกันในแต่ละรอบได้สร้างบรรายาศของเกมที่แตกต่างกันไปได้อย่างน่าสนใจ ในรอบแรกที่นำเกมไปทดลองเล่นนั้น ผู้เล่นทุกคนเป็นมือใหม่ที่เพิ่งมารู้จักกันไม่นานในวงของการจัดอบรม บรรยากาศในการเล่นเป็นไปอย่างเรียบง่าย เมื่อทุกคนต่างสนใจเฉพาะชัยชนะส่วนตัวของตัวเอง และพยายามจะเอาตัวเองรอดให้ได้ ประกอบกับสถานที่เล่นที่เปิดโล่ง อากาศร้อน และดึกมากแล้ว เมื่อมีผู้ชนะ เกมก็ดูจะจบลงอย่างง่ายดาย แตกต่างจากการนำเกมในรอบที่ 2 ที่ได้ผู้เล่นที่มีทักษะการเล่นบอร์ดเกมในระดับที่นิยามตัวเองว่าเป็น Dr. Boardgame มาเอง ทำให้แม้จะเป็นนักดูดฝุ่นที่ต้นทุนต่ำที่สุด แต่กลับสามารถเป็นผู้ชนะอย่างเงียบๆ ได้เป็นคนแรกตั้งแต่ turn ที่ 2 ของเกม


เมื่อได้พูดคุยภายหลังผู้เล่นกล่าวว่าเป็นบทบาทที่ท้าทายมาก เพราะออกตัวไปก่อนแล้วว่าเชี่ยวชาญ เมื่อได้เป็นตัวละครที่ต้นทุนต่ำสุดก็รู้สึกเหมือนถูกท้าทายอยู่ในที ว่าจะชนะได้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม แม้จะได้ชัยชนะส่วนบุคคลไปแล้ว แต่นักดูดฝุ่นท่านนี้ยังคงเก็บไว้เป็นความลับด้วยยังคงอยากเข้าใจกลไกเกม ทำให้การเล่นยังคงดำเนินต่อไป น่าสนใจว่าเกมนี้จะพาเราไปสุดได้ที่ตรงไหน เมื่อผู้เล่นพยายามทำความเข้าใจทุกๆ จุดที่ซ่อนอยู่ในเกม และเตือนสติทุกคนไว้ตอดเวลาว่า “มันจะต้องมีอะไรซ่อนอยู่อีกแน่ๆ” ทำให้รอบนี้ทุกคนเหมือนได้สำรวจกลไกของเกมไปพร้อมๆ กันอย่างละเอียดถี่ถ้วนอีกครั้ง 


ส่วนที่สำคัญมากจุดหนึ่งได้ผู้เขียนได้เห็นในครั้งนี้นอกจากกลไกของเกมที่ทำหน้าที่ได้อย่างไม่บกพร่องแล้ว คือได้เห็นตัวละครในเส้นเรื่องรอง (Side Story) ได้ออกมาโลดแล่นและทำหน้าที่ของมันได้ชัดเจนกว่าครั้งก่อน อาจเพราะเกมนี้ประกอบด้วยผู้เล่นหลายระดับและหลากหลายพื้นเพ ตั้งแต่คุณครูที่ไม่เคยเล่นบอร์ดเกมมาก่อน พนักงานบริษัทเอกชนที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านบอร์ดเกม คุณครูแนะแนวที่ใช้ฐานใจในการเล่นและเน้นสำรวจความรู้สึกตนเองเป็นระยะ และครูสอนการแสดงที่แสนจิตใจดี เกมในรอบนี้จึงเป็นไปอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย นักสะสมดาวใจดีไม่เน้นกอบโกยผลประโยชน์ส่วนตัว ใช้ละอองดาวแจกจ่ายช่วยเหลือสังคม เดินทางไปที่ต่างๆ และเลือกทำงานจากความสนใจไม่ใช่ค่าตอบแทน นักเดินทางที่สนใจผู้คนรอบข้างและแวะพักสำรวจตัวเองเป็นระยะ นักดูดฝุ่นล้านคำถามที่สนใจกลไกเกมเป็นหลัก และนักล่าดาวมือใหม่ที่กลายเป็นผู้ชนะจากการลองเล่นบอร์ดเกมครั้งแรก ส่วนผสมทั้งหมดนี้ทำให้เกมเปลี่ยนจากสนามรบระหว่างชนชั้นกลายเป็นเกมเดินทางที่แสนเรียบง่าย จึงเป็นครั้งแรกที่การ์ดตัวละครผู้คนที่ได้พบเจอระหว่างทางได้ทำหน้าที่ของมันอย่างที่ผู้เขียนไม่ได้เห็นในครั้งก่อนๆ พูดให้เห็นภาพชัดๆ ก็คือ ตัวตนของผู้คนที่เคยเป็นเพียงตัวประกอบในเกมได้ปรากฎชัดขึ้นมา น้ำเสียง ท่าทาง ภูมิหลัง และความฝันของพวกเราถูกเล่าผ่านผู้เล่นแต่ละคนที่ได้พบเจอ เส้นเรื่องรองที่ถูกซ่อนไว้ในเกม (Easter Egg) อย่างเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ถูกเล่าผ่านการ์ดได้สร้างความรู้สึกเชื่อมโยง (Connect) ประสบการณ์เดิมของผู้เล่นเข้ากับตัวเกมได้ราวกับว่าพวกเราเองก็เป็นตัวละครหนึ่งในเกมไม่ต่างจากการ์ดตัวละครเหล่านั้น 



มาถึงการทดลองเกมรอบสุดท้าย ซึ่งผู้เขียนได้รับหน้าที่เป็นผู้เล่นกึ่งผู้ดำเนินเกม กล่าวคือเป็นผู้เล่นที่มีเป้าหมายชัดเจนว่าต้องการให้เกมดำเนินไปในทิศทางใด ประกอบกับผู้เข้าร่วมที่ถูกคัดเลือกมาแล้วอย่างเฉพาะเจาะจง ได้แก่ นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิแรงงานรับบทเป็นนักดูดฝุ่น คนทำงานสื่อ (Content Creator) รับบทเป็นนักล่าดาว สาวสวยจากบริษัทเอเจนซี่โฆษณาที่รับบทเป็นนักเดินทาง และตัวผู้เขียนเองที่รับบทเป็นนักสะสมดาวหน้าเลือดที่พร้อมจะกอบโกยทรัพยากรทั้งหมดไว้ ส่วนผสมทั้งหมดนี้ทำให้เกมเปิดพื้นที่ประสบการณ์ใหม่ กลายเป็นรอบส่งท้ายที่น่าประทับใจมากทีเดียว


ในเกมรอบสุดท้ายนี้ อำนาจของนักสะสมดาวไม่ใช่แค่ถูกท้าทาย แต่ทั้งถูกคุกคามและข่มขู่จากผู้เล่นคนอื่นๆ อยู่ตลอดเวลา นำทีมโดยนักดูดฝุ่นที่ชักชวนให้นักล่าดาวและนักเดินทางเห็นว่าพวกเขาเริ่มต้นด้วยทรัพยากรที่น้อยกว่าเหมือนๆ กัน ดังนั้น พวกเขาจึงควรรวมตัวกันเพื่อปล้นชิงเอาทรัพยากรจากนักสะสมดาวหากจำเป็นต้องทำเพื่อให้สังคมผ่านพ้นวิกฤติต่างๆ ไปได้ รวมถึงเพื่อสร้างชัยชนะร่วมเมื่อมีโอกาส ความรู้สึกระหว่างเกมของผู้เขียนจึงเปลี่ยนจากการเล่นในรอบแรกไปอย่างสิ้นเชิง ครั้งนี้ผู้เขียนไม่สามารถสะสมละอองดาวได้มากมายอย่างใจ เพราะต้องคอยใช้ละอองดาวซื้อพรรคพวก (MVP Characters) และเก็บเงินไว้จ่ายค่ารักษาพยาบาล เมื่อถูกผู้เล่นทั้ง 3 คนร่วมมือกันขู่ว่าจะจับนักสะสมดาวเข้ากล่องหลับใหลอยู่ตลอดเวลา

นอกจากนี้ ผู้เขียนยังไม่สามารถวางแผนการลงทุนได้อย่างใจ เมื่อต้องคอยใช้ละอองดาวซื้อใจผู้เล่นคนอื่นๆ ให้เขาเข้าใกล้ความฝัน แลกกับการได้เขามาเป็นพวก และทำสนธิสัญญาสงบศึก ละเว้นการข่มขู่จะจับนักสะสมดาวเข้ากล่องในแต่ละรอบ ดังนั้นในรอบสุดท้ายของการทดลองนี้ ตัวเกมได้ทำหน้าที่ของมันอย่างสมบูรณ์อีกครั้ง ด้วยการพาผู้เล่นไปสำรวจอำนาจของผู้ถูกกดขี่และการพยายามรักษาไว้ซึ่งอำนาจของผู้กดขี่ รวมถึงได้ฉายให้เห็นภาพของสำนึกรวมหมู่และการต่อสู้ทางชนชั้นได้อย่างชัดเจน  


ทั้ง 3 รอบของการเล่นเกมจึงทำให้เห็นจุดเด่นของเกมที่พบได้ไม่มากนักในหมู่บอร์ดเกมทั้งหลาย คือ เกมทำหน้าที่เป็นเพียงเครื่องมือหรือสื่อกลางเท่านั้น ส่วนผู้เล่นจะได้ประสบการณ์แบบไหนจากเกมขึ้นอยู่กับธรรมชาติของผู้เล่นทั้ง 4 คนรวมกันเป็นสำคัญ


นอกจากความรู้สึกและประสบการณ์ระหว่างเล่นเกม Stardust’s Odyssey ยังเป็นเกมที่วางเรื่องราวและกลไกเกมบนฉากทัศน์ของสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำ ที่แม้จะไม่ได้ให้ต้นทุนที่แตกต่างกันในแง่ของจำนวนละอองดาว แต่ซุ่มเสียง ความทรงจำ และตัวตนที่ถูกรับรู้และมองเห็นนั้นสะท้อนความจริงของสังคมได้ไม่น้อย เพราะในสังคมที่มองคนไม่เท่ากัน ต้นทุนที่สำคัญยิ่งกว่าปริมาณเงินในกระเป๋า คือต้นทุนที่ว่า “คุณเป็นใคร” ยิ่งไปกว่านั้น แม้ตัวเกมจะหลอกล่อผู้เล่นให้มุ่งความสนใจไปยังชัยชนะส่วนบุคคลซึ่งเป็นค่าเริ่มต้นที่ผู้ออกแบบเกมได้กำหนดไว้ให้ตัวละครแต่ละตัวแล้ว แต่เกมก็เปิดโอกาสให้ผู้เล่นได้จินตนาการถึงสังคมที่ทุกคนมีชีวิตที่ดีขึ้นไปพร้อมๆ กันได้ผ่านการ์ดชัยชนะร่วม ที่แน่นอนว่าจะได้มาง่ายหรือยากนั้นก็ล้วนขึ้นอยู่กับว่าผู้เล่นถูกการ์ดชัยชนะส่วนบุคคลล่อลวงไปได้หนักแน่นเข้มแข็งเพียงใด ราวกับว่าแม้ทุกคนจะรู้ว่าเราสามารถใช้ทรัพยากรที่แต่ละคนมีมากองรวมกัน เราสามารถสร้างสังคมที่ทุกคนเหนื่อยน้อยลงและเข้าใกล้ความฝันมากขึ้นได้ แต่เราพร้อมจะละตัวตนที่ได้มาฟรีๆ อย่างชาติกำเนิด ชื่อเสียง เงินทอง ละทิ้งความฝันที่นักออกแบบเกมกำหนดมาให้ ละทิ้งความสำเร็จตามกติกาของโลกใบเดิม แล้วสร้างโลกใบใหม่นอกกติกาที่ถูกกำหนดไว้หรือเปล่า? 


ตลอดการทดลองเล่นเกมทั้งในฐานะผู้เข้าร่วมและผู้ดำเนินเกม ผู้เขียนพบปรากฎการณ์นี้จากผู้เล่นเพียง 1 คนเท่านั้น คือนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิแรงงานที่รับบทเป็นนักดูดฝุ่น ความฝันของตัวละครนี้ตามที่ได้รับมอบหมายคือการมีละอองดาว 10 ดวง ซึ่งดูจะง่ายดายมาก แต่สิ่งที่ผู้เล่นคนนี้ทำคือการเขียนความฝันของตัวละครขึ้นใหม่ ซึ่งก็คือการปฏิวัติ นั่นทำให้การเล่นของเขาแตกต่างจากผู้เล่นคนอื่นๆ และต้อนผู้เขียนที่ตั้งใจรับบทนักสะสมดาวหน้าเลือดที่ต้องการคงไว้ซึ่งโลกที่ตนเองได้เปรียบเสียจนจนมุม และเกิดปรากฏการณ์การรวมตัวของชนชั้นแรงงานเพื่อประท้วงและกดดันให้นักสะสมดาวยอมจำนนอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เกมรอบสุดท้ายนี้จบลงด้วยชัยชนะส่วนบุคคลของนักเดินทาง ซึ่งก็คือการปลดหนี้บ้านจากธนาคาร ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการตกลงรับความช่วยเหลือจากนักสะสมดาว แลกกับการทำสัญญาไม่จับเข้าห้องหลับใหล หลังจากเกมจบลงและมีเวลาได้ใคร่ครวญแล้ว ผู้เขียนพบว่าหากในรอบสุดท้ายของเกมนั้นผู้เล่นทั้ง 3 คนยืนยันจะรวมตัว และละทิ้งความฝันของตนเองเพื่อยืนยันจะสร้างโลกใหม่ นักสะสมจะไม่เพียงแต่ใช้ชีวิตยากขึ้น แต่คงไม่สามารถรักษาสภาวะเอียงๆ ของดวงดาวไว้ได้อย่างแน่นอน


สำหรับผู้เขียนที่ทำงานในห้องเรียน เกมนี้จึงเป็นแรงบันดาลใจให้นำไปประยุกต์ใช้ได้ในหลายมิติ โดยส่วนที่น่าสนใจที่สุดสำหรับผู้เขียน คือการ์ดตัวละครที่ช่วยเปิดพื้นที่ให้ตัวตนและซุ่มเสียงของผู้คนที่ไม่เคยถูกนับรวมในฐานะบุคคลสำคัญสำหรับรัฐหรือส่วนกลาง พร้อมกับ Easter Eggs ของเหตุการณ์สำคัญของประวัติศาสตร์การต่อสู้ทางการเมืองไทย ซึ่งสามารถนำไปใช้ในการเรียนการสอนรายวิชาประวัติศาสตร์ ด้วยคำถามเรียบง่ายอย่างการ์ดแต่ละใบเป็นตัวแทนของคนกลุ่มใด ในช่วงเวลาและบริบททางประวัติศาสตร์ที่เป็นอย่างไร ไปจนถึงการเรียงลำดับเหตุการณ์โดยใช้การ์ดตัวละครที่นักเรียนได้รับ เพื่อชวนนักเรียนสำรวจว่าตัวตนของใคร แบบไหนบ้างที่ถูกบันทึกไว้ในฐานะความทรงจำร่วม และตัวตนของใคร แบบไหน ที่ถูกทำให้เลือนหาย ไร้ซุ่มเสียง หรือถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อสร้างเรื่องเล่าของความทรงจำใหม่ทาบทับกับเรื่องราวเดิม ความทรงจำเหล่านั้นถูกนำไปใช้อย่างไร และเพื่อประโยชน์ของใคร


Stardust’s Odyssey จึงไม่ใช่เพียงบอร์ดเกมที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำและจินตนาการของการต่อสู้ทางชนชั้นจับต้องได้ แต่เป็นเกมที่บันทึกเรื่องราวและตัวตนของผู้คนที่มีส่วนร่วมในการสร้างความทรงจำทางเศรษฐกิจและการเมืองไทยไว้ผ่านความสนุกและความท้าทายของเกมได้อย่างน่าติดตาม เหมือนที่ผู้เล่นทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันหลังจากใช้เวลามากกว่า 2 ชั่วโมงในการเล่นเกมไปแล้วว่า “ขอเล่นอีกรอบได้ไหม” แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะโชคดีได้ค้นพบสิ่งที่ถูกซ่อนไว้ในเกมผ่านการเล่นหลายรอบเหมือนผู้เขียน แต่หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเกมนี้จะถูกพัฒนาออกมาเป็น version ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ และได้มีโอกาสเดินทางเรียนรู้ไปกับเหล่าตัวละครในเมืองสีฝุ่นเช่นเดียวกับผู้เขียนในอนาคต

Sep 24

ใช้เวลาอ่าน 2 นาที

0

2

0

ความคิดเห็น

Share Your ThoughtsBe the first to write a comment.
bottom of page