เบื้องหลังเกม: การแสดงความเหลื่อมล้ำผ่านเกม Stardust Odyssey
Sep 24
ใช้เวลาอ่าน 1 นาที
0
2
0
"Stardust Odyssey ไม่ใช่เพียงเกมเท่านั้น แต่เป็นพื้นที่ที่ถูกออกแบบให้เกิดการพูดคุย เพื่อท้าทายผู้เล่นให้เผชิญกับความไม่เสมอภาคทางสังคม-เศรษฐกิจ และทำให้เห็นถึงความสำคัญของการร่วมมือกันเพื่อสร้างพลังในการเปลี่ยนแปลง"
รับขวัญ ธรรมบุษดี - ผู้วิจัยและผู้สร้างสรรค์เกม
Rubkwan Thammaboosadee - Researcher and Game Creator
เกมนี้พัฒนามาจากงานวิจัยที่มีชื่อว่า "โครงการ การแสดงแห่งความเหลื่อมล้ำ: การศึกษา ร่างกาย สุ้มเสียง และการถ่ายทอดความทรงจำทางวัฒนธรรมภายใต้แนวคิดเสรีนิยมใหม่ในประเทศไทยเพื่อสร้างเครื่องมือการเรียนรู้สร้างสรรค์ในการสร้างพลเมืองตื่นรู้ ซึ่งได้รับทุนจากสำนักวิจัยแห่งชาติ (NRCT) ระหว่างปี 2023 - 2025 งานวิจัยนี้มุ่งเน้นไปที่ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม-เศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากแนวคิดเสรีนิยมใหม่ ซึ่งฉันในฐานะผู้วิจัยมองว่าระบบการศึกษาในประเทศไทยเป็นตัวละครสำคัญที่ส่งต่อความปกติของความเหลื่อมล้ำโดยการสร้างกรอบคิดให้เรามองความสำเร็จในแง่ของการพึ่งพาตัวเอง ผ่านการ แข่งขัน การเอาตัวรอด การจัดลำดับ และทำให้นักเรียนมุ่งเน้นไปที่ความสำเร็จส่วนบุคคลมากกว่าการเข้าใจโครงสร้างทางสังคมที่สร้างความเหลื่อมล้ำที่ในความเป็นจริงแล้วไม่ว่าเราจะพยายามแค่ไหนระบบก็ไม่ได้มีที่ปลอดภัยให้คนส่วนมากอยู่ดี
งานวิจัยของฉันจึงต้องการขยายขอบเขตของคำว่า "พลเมืองตื่นรู้" ที่ไปให้ไกลกว่าแค่การ "รับรู้" และ"มองเห็น" ความเป็นไปของสังคมในแง่จริยธรรม ความสำเร็จ หรือ การมีส่วนร่วมในสังคมที่เป็นแค่ภารกิจสั้นๆเพียงชั่วครั้งชั่วคราว แต่ฉันมองว่าขอบข่ายของ "การตื่นรู้" ควรลามไปถึงการตั้งคำถามต่อความเหลื่อมล้ำในสังคมอย่างตรงไปตรงมา ที่ประสบการณ์ต่อความเหลื่อมล้ำนั้นไม่ใช่เรื่องไกลตัวแต่ไหลวนผ่านความรู้สึกที่ผู้คนถ่ายทอดส่งต่อให้กันและกันในชีวิตประจำวัน
ส่วนแรกของงานวิจัย ฉันได้ศึกษาการแสดงออกที่ถูกจดจำในพื้นที่สาธารณะและสื่อมวลชนของกลุ่มคนในสังคม เช่น คนมีชื่อเสียงที่มั่งคั่ง คนงานรายวันที่ได้ค่าจ้างต่ำ นักเรียนนักศึกษา และพนักงานประจำ เพื่อจัดวางให้เห็นการแสดงออกในบทบาทของผู้คนภายใต้ความเหลื่อมล้ำ ที่ไม่ใช่แค่ในแง่ของเงินหรือรายได้ แต่ฉันอยากให้เรามองเห็นความเหลื่อมล้ำที่อาจวัดไม่ได้ด้วยตัวเลขของรายได้และหนี้สินเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึง สุ้มเสียง ร่างกาย และความทรงจำ ของพวกเขาด้วย
คนรวยมักใช้สื่อในการแสดงออกถึงเสียงและร่างกายที่เปล่งประกายของพวกเขา เพื่อกลบทับร่างกายของคนข้างล่างที่ต้องผชิญกับความไม่มั่นคงในชีวิต แต่กลับไร้ซึ่งเวทีในการแสดงปัญหาของตน
ในฐานะนักวิชาการ เราต่างรู้ดีกันว่า ภาษาและศัพท์แสงของงานวิชาการมีข้อจำกัดในการเข้าถึงขนาดไหน ส่วนที่สองของงานวิจัยชิ้นนี้ฉันจึงตัดสินใจส่งต่อข้อค้นพบออกมาให้อยู่ในรูปแบบของบอร์ดเกมที่ชื่อว่า Stardust Odyssey: City’s Last Stand ซึ่งฉันตั้งใจให้เป็นเครื่องมือที่ทั้งสนุกแแต่ก็ท้าทายเรื่องเล่าเดิมของโครงสร้างความไม่เท่าเทียม
เราเทำคนเดียวไม่ได้: ในการออกแบบเกมนี้ ฉันร่วมมือกับ อรรถพล ประภาสโนบล "พล" เป็นนักการศึกษา เกมเมอร์ เพื่อนร่วมอุดมการณ์ และที่สำคัญเราเป็นเพื่อนกัน เรามองเห็นสังคมที่เราอยากไปถึงด้วยกัน เราทำงานกับห้องเรียน กับเพื่อนมนุษย์ เราพบเจอกับคนรุ่นใหม่ที่แบกฝันใส่เป้ใบโต พวกเราเลยออกแบบเกมนี้โดยหวังให้ผู้เล่นได้สัมผัสและเผชิญหน้ากับความเหลื่อมล้ำที่ไม่ได้เกิดผ่านการเลคเชอร์ หรือ การอ่านตำราแต่ผ่าน การเล่น การสวมบทบาท การเล่าเรื่อง และการตัดสินใจ
ในเกมนี้ ผู้เล่นจะได้รับบทเป็นตัวละครจากภูมิหลังที่แตกต่างกัน ซึ่งแต่ละตัวละครจะมีอำนาจและทรัพยากรที่ต่างกัน ผู้เล่นจะต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่คล้ายกับความท้าทายในชีวิตจริง เช่น การเข้าถึงโอกาสและการเอาตัวรอดในสังคมที่ปกครองด้วยแนวคิดเสรีนิยมใหม่ ตัวละครที่ร่ำรวยอาจมีทรัพยากรมากกว่า ในขณะที่ตัวละครที่ยากจนต้องเผชิญกับการตัดสินใจที่ยากลำบากเพื่อเอาชีวิตรอด เหมือนจะจำลองชีวิตจริงออกมาให้เห็น
พูดง่ายๆ เกมนี้ แบ่งออกเป็นสองช่วง: ช่วงแรกคือการใช้ชีวิตประจำวันของแต่ละของตัวละคร ที่ต่างมีเป้าหมายไปถึงชัยชนะของใครของมันเหมือนกับเกมทั่วไป แต่ช่วงที่สองเกมจะแสดงให้เห็นว่าการตัดสินใจของผู้เล่นส่งผลต่อกันและกันอย่างไร ส่งผลต่อการไปต่อหรือหยุดชะงักของสังคมอย่างไร โดยทั้งสองช่วงนี้จะเป็นการแสดงให้เห็นว่าทุกตัวละครและทุกชนชั้นทางสังคมมีความเชื่อมโยงกัน ราคาของการเอาตัวรอดๆไปเรื่อยๆคืออะไร และการร่วมมือกันสามารถนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร
"Stardust Odyssey ไม่ใช่เพียงเกมเท่านั้น แต่เป็นพื้นที่ที่ถูกออกแบบให้เกิดการพูดคุย เพื่อท้าทายผู้เล่นให้เผชิญกับความไม่เสมอภาคทางสังคม-เศรษฐกิจ และทำให้เห็นถึงความสำคัญของการร่วมมือกันเพื่อสร้างพลังในการเปลี่ยนแปลง"
ฉันอยากเห็นสังคมที่เท่าเทียมกว่านี้นี่คือธงของฉัน และฉันเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงไม่อาจเกิดได้ด้วยคนคนเดียว แต่ฉันก็ไม่อยากเป็นคนเขียนบทละครที่มาเขียนปกป้องหรืออธิบายเแก่นคิดของเกมนี้เหมือนกับการเฉลยตอนจบ เพราะไม่เพียงแต่ว่าตอนจบของเกมนี้ที่ขึ้นอยู่กับผู้เล่น แต่เส้นทางระหว่างทางก็อยู่ในมือของพวกคุณเช่นกัน ฉันหวังว่า Stardust Odyssey จะเป็นเครื่องมือที่เข้าไปปั่นป่วนและท้าทายผู้เล่นต่อเรื่องความเหลื่อมล้ำ และนำไปสู่การสั่นคลอนความหมายเดิมๆ ของการเป็นพลเมืองที่ตื่นรู้ ที่ไม่เพียงแต่เข้าใจกฎเกณฑ์ แต่ยังเข้าใจว่าความเหลื่อมล้ำในสังคมได้ขโมยความฝัน ความทรงจำ สุ้มเสียง และ กัดกินร่างกายของพวกเรา และการรวมตัวกันเพื่อต่อรองเท่านั้นที่จะพาเราทุกคนหลุดจากโครงสร้างของดาวที่เอียงๆและพังๆนี้